ชีวประวัติ ของ ฟร็องซิส ปีกาบียา

ช่วงวัยเด็ก

ฟร็องซิส ปีกาบียา เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1879 กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยเขากำเนิดขึ้นในตระกูลที่ร่ำรวย จึงทำให้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ท่องเที่ยว และมีความสุขกับชีวิตที่หรูหรา อย่างไรก็ตามเมื่อเขาอายุได้7ปี แม่ของเขาได้จากไปด้วยวัณโรคและในปีถัดไป ยายของเขาก็ได้เสียชีวิตลง เขาจึงตกอยู่ในการดูแลของพ่อ ลุง และตาของเขา

ลุงของเขาเป็นคนรักศิลปะและนักสะสม ทำให้ปีกาบียาเริ่มมีความสนใจในจิตรกรคลาสสิคของฝรั่งเศส อาทิเช่น เฟลิกซ์ ซีม (Felix Ziem) และเฟอร์ดินาน รอยเบิร์ด (Ferdinand Roybert) ส่วนตาของเขาที่เป็นช่างภาพมือสมัครเล่น ก็ได้สอนเขาเกี่ยวกับการถ่ายภาพด้วย และหลังจากนั้นปีกาบียาจึงได้ใช้กล้องเพื่อช่วยในการทำงานของเขา [1]

ช่วงแรกของการเป็นศิลปิน

ในปี ค.ศ. 1895 ปีกาบียาได้เข้าเรียนที่ École des Arts Decoratifs เขาได้ทำงานกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนของเขาฌอร์ฌ บรัก และมารี ลอเรนซิน ซึ่งเขาได้สร้างผลงานที่เป็นงานสีน้ำและเคยถูกจัดแสดงที่ Salon des Artistes Francis อยู่หนหนึ่ง เขาละทิ้งงานสีน้ำแบบดั้งเดิมไปในเวลาอันสั้นและเริ่มหันไปทำงานแนวลัทธิประทับใจแทน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากกามีย์ ปีซาโรและอัลเฟรด ซิสลีย์ เขามีความเชื่อว่า “ภาพวาดไม่ได้เป็นตัวแทนของธรรมชาติ แต่เป็นอารมณ์ที่ถ่ายทอดมาจากประสบการณ์ของศิลปิน” และงานแนวลัทธิประทับใจ ก็สามารถเป็นสื่อที่ถ่ายทอดอุดมการณ์ของเขาได้

ปีกาบียาเริ่มแสดงงานครั้งแรกในปี 1905 ที่ Galerie Hausmann ในกรุงปารีส ในนิทรรศการได้จัดแสดงภาพทิวทัศน์จำนวน 61 รูปและได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและเริ่มจัดแสดงต่อในกรุงปารีส ลอนดอน และเบอลิน

อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1909 เขาได้ละทิ้งงานที่เรียกว่าเป็นแบบอย่างของเขาและเปลี่ยนมาเป็นแบบอาว็อง-การ์ดซึ่งรวมไปถึงคติโฟวิสต์ และนี่ก็เป็นเหตุผลที่เขาต้องเลิกแสดงงานที่ Galerie Hausmann ซึ่งในปีเดียวกันนั้นเองเขาได้แต่งงานกับนักดนตรีผู้นำดนตรีมาสู่ชีวิตของเขา เธอคนนั้นก็คือ แกเบรียล บัฟเฟ ด้วยเหตุนี้เองก็ทำให้เขาได้ค้นพบจุดเชื่อมโยงระหว่างดนตรีและศิลปะ นอกจากนี้เธอก็ยังทำให้เขาสนใจงานแนวอาว็อง-การ์ด มากขึ้นไปอีกจากปี 1909-1913

Francis Picabia, 1909, Caotchouc, Oil on canvas

ปีกาบียาได้พยายามค้นหาแบบอย่างงานอีกครั้งที่จะสามารถถ่ายทอดความเป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้าของเขาได้อย่างเหมาะสมลงตัวที่สุด เขาลองเปลี่ยนจากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง เช่น คติโฟวิสต์, บาศกนิยม, ศิลปะนามธรรม แม้อนาคตของเขาในฐานะศิลปินจะยังมีความไม่แน่นอน แต่เขาและภรรยาก็เริ่มต้นสร้างครอบครัวด้วยการมีลูกคนแรกด้วยกันในปี 1910 และคนที่ 2 ในปีต่อมา เขาและภรรยาได้เข้าร่วม Sociètè Normande de Peinture Moderne ซึ่งเป็นที่ที่ส่งเสริมและสนับสนุนความสัมพันธ์ของงานศิลปะแบบสหวิทยาการ และมันนำพามาสู่การจัดนิทรรศการเป็นประจำทุกปีและอีเว้นท์อื่นๆ เป็นการสร้างเครือข่ายและสังคมกับศิลปินคนอื่นๆ ในปี 1911 ปีกาบียาได้พบกับมาเซล ดูช็องป์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ทั้งในชีวิตจริงและบนเส้นทางงานศิลปะ

การเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว

ในปี ค.ศ. 1912 ปีกาบียาได้แสดงออกทางงานบาศกนิยมอย่างรุนแรงขึ้น ภาพวาดของเขามาจากความทรงจำและประสบการณ์มากกว่าการได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ จากการเข้าร่วม Armory Show ที่ นิวยอร์ก เขาแสดงผลงาน La Danses à la source (1912),Souvenir de Grimaldi (1912), La Procession Seville (1912) และ ปารีส (1912)ผลงานของเขาถูกวิจารณ์ในหลาย ๆ ด้าน เช่นนักข่าวบางส่วนที่วิจารณ์สีสันที่ประสานกันอย่างลงตัวของเขาว่าเป็นสิ่งจอมปลอม แม้ว่าจะได้รับคำวิจารณ์เช่นนั้นในอเมริกา แต่เขาก็เลือกที่จะอยู่ต่อไปอีก 2 สัปดาห์กับ อัลเฟรด สติกกลิซ และแกลอรี 291 ของเขา เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง ปีกาบียาได้หนีหลบซ่อนตัวไปอยู่ที่บาร์เซโลนา, นิวยอร์ก และแคริบเบียน ตามลำดับ ผลจากสงครามทำให้เขาค้นพบงานแนวใหม่ที่เรียกได้ว่าเป็นตัวแทนแห่งยุคอุตสาหกรรม เขาได้แสดงเครื่องวาดภาพเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1916 ที่ Modern Gallery ในนิวยอร์กความสัมพันธ์ระหว่างเขาและภรรยาเริ่มจืดจางลงเมื่อเขาได้พบกับเจอเมน เอเวอร์ลิง

ในปี ค.ศ. 1919 ปีกาบียาและภรรยาของเขาได้หย่าร้างกันในที่สุด ถึงตอนนี้ผลงานภาพวาดแนวเครื่องจักรของเขาก็เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีผ่านสำนักพิมพ์ที่เกี่ยวกับงานอาว็อง-การ์ด ในปี 1920 ดาดาได้ดำเนินมาจนถึงจุดสูงสุด ซึ่งผลงานมีทั้ง Happening งานนิทรรศการ หนังสือ และนิตยสาร หลังจากการเผยแพร่ความเคลื่อนไหวของการต่อต้านงานศิลปะเป็นไปอย่างต่อเนื่องหลายปี ปีกาบียาเริ่มรู้สึกว่าดาดาได้กลายเป็นแค่ระบบทั่วไปของการก่อตั้งความคิด ในปี ค.ศ. 1921 เขาโจมตีศิลปินดาดาคนอื่น ๆ ในประเด็นพิเศษใน 391 ที่ชื่อว่า Phihaou-Thibaou

หลังจากที่เขาล้มเลิกที่จะเป็นดาดา เขาก็หันมาสนใจการจัดนิทรรศการภาพวาดอีกครั้งหนึ่ง และในปี 1922 เขาได้แสดงที่ Salon d’Automne ด้วยเครื่องวาดภาพของเขาที่ใกล้เคียงกับภาพวาดในสไตล์สเปนมากขึ้น หลังจากที่เขาจากเพื่อนร่วมงานมากว่า 10 ปี และแสวงหาชีวิตใหม่กับภรรยาใหม่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เขาทิ้งกรุงปารีสไปในปี 1925 และใช้ชีวิต 20 ปีอยู่ที่โกตดาซูร์ เขาและภรรยาใช้เวลาพักผ่อนในบ้านที่คานส์ และจ้างแม่นมมาดูแลลูกชายของพวกเขา ซึ่งปีกาบียาได้เกิดหลงรักแม่นมที่ชื่อโอลก้า โมเลอ ต่อมาไม่นานเขาก็เริ่มห่างกับเจอเมน และแยกกันอยู่อย่างเป็นทางการในปี 1933

บั้นปลายชีวิต

ไฟล์:Francis Picabia - Transparence (Hera).jpgFrancis Picabia, 1929, Transparence (Hera), Oil on cardboard, 105 x 75 cm., private collection.

ในช่วงปี 1930 ปีกาบียาแสดงผลงานภาพวาดของเขาในชุด Transparencies (1928-31) ที่ Galerie Theophile Briant ซึ่งเป็นผลงานที่เค้าได้ฉีกกฎการภาพวาดประเพณีนิยมไป โดยเป็นภาพวาดแนวใหม่ที่ไม่คำนึงถึงเรื่องทัศนมิติ แต่เป็นการวาดภาพแบบแบนๆ มีขนาดที่แตกต่างกัน มีจุดรวมสายตาหลายจุด และภาพซ้อนไขว้กันไปมา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นภาพมายาที่สามารถมองได้หลายมุม[2]

ในปี ค.ศ. 1940 เขาและโอลก้า โมเลอได้แต่งงานกัน และนั่นก็ทำให้สไตล์งานของเขาเปลี่ยนไปอีกครั้ง หลายคนพูดว่างานของเขาในช่วง 1940 ค่อนข้างจะเป็นเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง เขาวาดภาพรูปที่ได้รับความนิยมมากจากนิตยสารของสาว ๆ อย่างดาราหญิง และคู่รักโรแมนติกในชีวิตจริง ในท้ายที่สุดของสายงานของเขา ปีกาบียาก็เปลี่ยนเส้นทางอีกครั้งเป็นงานศิลปะนามธรรม เขายังคงจัดงานนิทรรศการต่อไปอีกตามแกลอรี่ดังๆในปารีสและตีพิมพ์งานเขียนของเขาจนถึงปี ค.ศ. 1951 ในขณะที่เขามีสภาวะผิดปกติที่หลอดเลือดและไม่สามารถวาดภาพต่อไปได้อีก และได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1953

แหล่งที่มา

WikiPedia: ฟร็องซิส ปีกาบียา http://www.abcgallery.com/P/picabia/picabiabio.htm... http://www.dadart.com/dadaism/dada/011-dada-franci... http://www.dadart.com/dadaism/dada/020-history-dad... http://www.picabia.com/FP_WEB/UK/biographie.awp http://www.picabia.com/FP_WEB/UK/expositions.awp http://th.wsgiga.com/francis-picabia.com/redirect.... http://www.wwartcoll.com/articles_wi1_sub.php?id=2... http://www.youtube.com/watch?v=qUqn4G_HAQs&feature... http://www.the-athenaeum.org/art/list.php?m=a&s=tu... http://www.theartstory.org/artist-picabia-francis....